EF คืออะไร
EF หรือทักษะสมอง EF หรือ ทักษะสมองส่วนการคิดเชิงบริหารจัดการ คือ กระบวนการขั้นสูงของสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe)ที่เกี่ยวกับการจัดการความคิด อารมณ์และการกระทำที่ทำให้บุคคลสามารถเรียนรู้ ปรับตัวและกำกับตนเองจนบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จ
ทักษะสมอง EF
สำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาเด็ก
นักวิทยาศาสตร์เชี่อว่าทักษะการคิดเชิงบริหารจัดการหรือทักษะสมอง EFมีความสำคัญต่อความสำเร็จของมนุษย์ เพราะเป็นทักษะการคิดขั้นสูงที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อข้อมูลจากประสบการณ์ในอดีตเข้ากับปัจจุบัน ทำให้มนุษย์รู้สึกยั้งคิด ยั้งใจ ชะลอความอยาก กำกับพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเอง ทำให้รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง สามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาจนทำให้เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ประสบความสำเร็จได้
แม้งานวิจัยจะบอกว่ามนุษย์ทุกคนมีทักษะสมอง EF ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเริ่มพัฒนาขึ้นในเวลาไม่นานหลังปฏิสนธิ แต่มนุษย์ยังจำเป็นต้องมีการฝึกฝนต่อเนื่อง โดยการใช้ศักยภาพของสมองส่วนหน้าพัฒนาผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายจนกลายเป็นทักษะการคิดเชิงบริหารจัดการที่ปลูกฝังอยู่กับชีวิตไปจนตายเปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานของบ้านที่มั่นคงแข็งแรงพร้อมรับการก่อร่างสร้างตัวในอนาคต
เนื่องจากสมองมนุษย์มีการพัฒนาเร็วที่สุดในช่วง 3-6 ปีแรกของชีวิต ดังนั้นในช่วยปฐมวัยจึงเป็นช่วงวัยที่จะพัฒนาทักษะสมองEF ได้ดีที่สุด สำหรับในช่วงวัยอื่นๆทักษะสมองEF แม้จะยังพัฒนาได้ แต่ก็จะไม่ได้ดีเท่ากับช่วงปฐมวัย และเมื่อสมองส่วนหน้าเติบโตเต็มที่แล้วอัตราการเติบโตของทักษะสมองEF ก็จะลดลงเล็กน้อยก่อนที่จะค่อยๆ คงที่ไปจนถึงวัยสูงอายุ
ดังนั้นในช่วงปฐมวัยหรือ 3-6 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและเป็นโอกาสทองที่ผู้ใหญ่จะต้องช่วยกันพัฒนาทักษะสมองEF ให้เด็กๆให้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็กเองและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะทักษะสมองEF จะทำให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น ปรับตัวได้และประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องกิจวัตรประจำวันส่วนตัวและเรื่องการเรียน
เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ทักษะสมองEF จะช่วยกำกับให้เขาดูแลตัวเองได้ เอาตัวรอดจากสถานการณ์ยากลำบากได้ สามารถตั้งเป้าหมาย จดจ่อ วางแผนจัดระบบ คิดยืดหยุ่นพลิกแพลงเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ไม่ยึดติดตายตัว มีความอดทนและพยายาม เมื่อเจอปัญหาและอุปสรรคๆต่างๆก็ยืนหยัดต่อสู้ ล้มแล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ ทำต่อจนจบโดยไม่เปลี่ยนเป้าหมาย นอกจากนี้ทักษะสมองEF ยังช่วยในการกำกับอารมณ์ ทำให้ชะลอเวลาและยั้งคิดไตร่ตรองจนทำให้ทำงานจนสำเร็จได้ตามแผน
จึงกล่าวได้ว่าการพัฒนาทักษะสมองEF เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อสังคม ช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องส่วนตัว อาชีพการงาน ความสัมพันธ์กับครอบครัวและสังคม บุคคลที่มีEF ดีจะสามารถช่วยดูแลสังคมไทยและสังคมโลกต่อไปในอนาคต นับเป็นการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่ามากกว่าการมาตามแก้ไขปัญหาสังคมในภายหลัง
ทักษะสมอง EFมีองค์ประกอบ 9ด้าน
1.ความจำใช้งาน (Working Memory)
ความจำที่มีการจัดระบบและเรียกข้อมูลกลับมาเพื่อใช้ได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่การท่องจำ เป็นความจำที่ช่วยให้เราจำและเชื่อมโยงข้อมูลจากข้อมูลเดิมไปยังข้อมูลใหม่ เช่นในเวลาอ่านหนังสือทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจ ทำให้สามารถทำสองสิ่งไปพร้อมๆกันได้ จำสิ่งที่เคยทำผิดพลาดได้และไม่ทำผิดซ้า ความจำใช้งานต้องอาศัยการจดจ่อใส่ใจ
2. จดจ่อใส่ใจ (Focus หรือ Attention)
ความสามารถในการจดจ่อในสิ่งที่กำลังทำในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องพอสมควร ไม่วอกแวกกระสับกระส่าย ไม่หันเหไปตามสิ่งอื่นที่มายั่วยุเร้าความสนใจ
3. การควบคุมอารมณ์ (Emotional control)
ความสามารถในการแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม บอกได้ว่าตนเองรู้สึกอย่างไรและรู้วิธีจัดการกับความรู้สึกนั้น เมื่อโกรธ ผิดหวัง เสียใจ ใช้เวลาไม่นานในการคืนอารมณ์สู่ภาวะปกติ ไม่หุนหันพลันแล่นโต้ตอบกลับทันทีโดยไม่คิด
4. การยืดหยุ่นของความคิด (Shift/Cognitive flexibility)
ความสามารถในการเปลี่ยนมุมมองความคิด คิดนอกกรอบ ไม่ยึดติดกับความคิดและการทำวิธีเดิมๆ แก้ปัญหาด้วยวิธีที่หลากหลาย เปลี่ยนความสนใจจดจ่อจากกิจกรรมหนึ่งไปยังอีกกิจกรรมหนึ่งได้อย่างอิสระ
5. การยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง(Inhibit)
ความสามารถในการคิดอย่างรอบคอบก่อนลงมือกระทำ การยืดเวลาการตอบสนอง เพื่อให้มีเวลาประเมินสถานการณ์ หรือพฤติกรรมที่อาจมีผลกระทบด้านลบต่อตนเองและผู้อื่น การหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำโดยไม่คิด หยุดแสดง พฤติกรรมด้านลบในเวลาที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง ยังยั้งเพื่อเอาชนะความอยากจากภายในหรือเอาชนะสิ่งล่อใจจากภายนอกเป้าหมายเพื่อเลือกทำสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อความสำเร็จ
6.การเริ่มต้นลงมือทำ (Initiation)
ความสามารถในการคิดเริ่มต้นงานด้วยตนเอง เพื่อให้งานสำเร็จบรรลุผลตามเป้าหมายแสดงพฤติกรรมโดยเริ่มต้นทำงานด้วยตนเองโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
7. การวางแผนจัดระบบ(Plan/organize)
กำหนดเป้าหมาย จัดลำดับความสำคัญของงาน มองภาพรวมของงานโดยไม่ติดอยู่กับรายละเอียดปลีกย่อยจนทำให้งานไม่สำเร็จ การจัดการของใช้ส่วนตัว บริเวณที่ทำงาน บริเวณที่เล่นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
8. การติดตามสังเกตและประเมินตนเอง (Self monitoring)
ความสามารถในการเฝ้าติดตามดูและสะท้อนผลจากการกระทำของตน การพิจารณาถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของตนเอง เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ได้กระทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และไม่มีผลกระทบด้านลบต่อผู้อื่น
9.งานสำเร็จ(Task complete)
ความสามารถในการมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายความสำเร็จด้วยความพากเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค