นักวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า คนทั่วไปมักคิดว่าคนที่มีปัญญา(Intelligence) ดีมักมี EFดีไปโดยปริยาย ทำให้เราคาดหวังว่า เด็กที่เรียนดีจะจัดการกับการบ้านได้ดีทั้งที่บ้านและโรงเรียน แต่ในความเป็นจริง EF, IQ และ EQ ไปด้วยกันได้บางระดับเท่านั้น เด็กที่มีปัญญาเลิศ อาจจะยับยั้งชั่งใจต่อแรงกระตุ้นไม่ค่อยได้ วางแผนหรือจัดการชีวิตประจำวันได้ไม่ดี การมีปัญญาการคิดวิเคราะห์และเข้าใจการงานก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กจะลงมือทำมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งมั่นทำจนเสร็จได้

IQ เป็นการวัดสิ่งที่เรียกว่า "ความสามารถทางปัญญาที่ตกผลึกแล้ว(Crystallized Intelligence)"แต่ EF คือความสามารถในการใช้สิ่งที่เรารู้แล้วนำมาสร้างสรรค์ใหม่หรือนำมาใช้ เป็นความสามารถทางปัญญาที่เลื่อนไหล
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า ความจำใช้งาน (Working Memory) กับการยับยั้งชั่งใจ(Inhibition) เป็นสิ่งที่บอกถึงความสำเร็จของเด็กหลังจากจบจากโรงเรียนแล้วได้ดียิ่งกว่าผลการทดสอบ IQ และการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น (Shifting หรือ Cognitive Flexibility) เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กสามารถมองหาทางออกของปัญหาและเปลี่ยนสถานการณ์ที่ตีบตันได้ ดังนั้นเด็กที่มีทักษะนี้จะไม่มีปัญหาการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง
ถึงตอนนี้เราคงพอมองภาพออกแล้วว่า EF มีความสัมพันธ์กับความพร้อมทางการเรียนของเด็ก โดยเฉพาะการอ่าน การคำนวณ และผลการเรียนทุกระดับจนถึงมหาวิทยาลัยมากกว่า IQ การอ่าน และการคำนวณ ยิ่งเรียนสูงขึ้น EF ยิ่งมีความจำเป็นต่อการเรียนให้ประสบความสำเร็จ จึงอาจกล่าวได้ว่า
"Executive Functions เป็นเครื่องทำนายที่แม่นยำถึงความสำเร็จในการเรียน มากยิ่งกว่าระดับ IQ”
ขอขอบคุณสาระความรู้เรื่อง "กิน กอด เล่น เล่า ทำงานบ้าน : ทักษะเพื่อพัฒนา EF ทางรอดของเด็กไทยสู่ศตวรรษที่21" จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)